google.com, pub-9296050589314666, DIRECT, f08c47fec0942fa0
รถไฟสายสีเหลือง น้องเก๊กฮวยเพิ่งเปิดใช้ตลอดเส้นทาง 23 สถานีระยะทาง34 กิโลเมตร ในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อกลางมิถุนายนที่ผ่านมา วันนี้มีโอกาสได้ไปใช้บริการจากต้นทางสถานีลาดพร้าว ถึงสถานีปลายทางที่สำโรง จึงขอนำมาเล่าสู่กันครับพอสังเขปครับ
สถานีต้นทาง สถานีลาดพร้าว ตั้งอยู่ติดกับอาคารจอดแล้วจรของMRT ตรงหัวมุมสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนรัชดาภิเษกกับถนนลาดพร้าว ครับ
การเดินทางไปสถานีลาดพร้าว ค่อนข้างไม่สะดวกสบายนักครับ หากมาจากBTS สายสีเขียวต้องลงที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว ตรงเซ็นทรัลลาดพร้าวนั่นแหละครับ จากนั้นต้องเดินบนสกายวอล์คลงไปที่สถานีรถไฟใต้ดิน MRT สถานีพหลโยธินที่ห่างไปราว 60 เมตร จากสถานีMRTนี้ นั่งรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ที่ชานชาลา1 มุ่งหน้าห้วยขวาง นั่งไปเพียงสถานีเดียว ลงที่สถานีลาดพร้าว
จากนั้นจึงเดินออกไปยังอาคารจอดแล้วจรของMRT เดินตามทางเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตามป้ายบอกทางไปเรื่อยๆจนไปถึงทางขึ้นบันไดเลื่อนไปสถานีสายสีเหลืองที่อยู่สูงข้างบน บางช่วงก็มีลิฟท์ไว้บริการครับ ช่วงจากห้างเซ็นทรัลถึงสถานีลาดพร้าว เดินเยอะหน่อยทั้งรอและนั่งรถไฟใต้ดิน ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงครับ แต่หากท่านใดนำรถยนต์ส่วนตัวมา ให้นำมาจอดที่อาคารจอดแล้วจรซึ่งคิดค่าบริการจอด จากนั้นเดินตามทางเชื่อมไปสถานีสายสีเหลืองได้เลยครับ
บริเวณสถานีจะมีเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติอยู่ 3 ตู้ และมีห้องจำหน่ายบัตรโดยสารที่มีพนักงานจำหน่าย ผมจึงเดินไปที่ห้องจำหน่ายพร้อมยื่นบัตรเบ่ง บัตรประชาชนครับ สูงวัย60 ขวบขึ้นไปได้ลดราคา ค่าตั๋วจากสถานีลาดพร้าวถึง สถานีสำโรง 23 บาท จากราคาเต็ม 45 บาท
นอกจากนี้หากใครมีบัตรเครดิต EMV ทีมีสัญญลัษณ์wifi สามารถนำมาใช้ชำระค่าโดยสารได้ครับ
ได้บัตรโดยสารพลาสติกแล้วสอดบัตรผ่านเข้าไปข้างในแล้วขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นจึงจะถึงชานชาลาครับ บริเวณชานชาลามีกระจกกั้นขอบรางรถไฟไว้ตลอดชานชาลาครับ ประตูจะเปิดเมื่อรถไฟมาเท่านั้นครับ ไม่ต้องกลัวหล่นลงไป ที่ชานชาลาวันนี้เป็นวันอาคารราว10 โมงมี ผู้โดยสารราว10 คนครับ ผมเดินไปยืนรอตรงด้านซ้ายสุดตรงประตูแรกเลยครับเพื่อรอขึ้นตู้หน้าสุดของขบวนซึ่งมีอยู่ 4 ตู้
เมื่อรถจอดเทียบชานชาลา ประตูเปิดให้เข้า พบตู้โดยสารค่อนข้างกว้างมีที่ยืนเป็นส่วนใหญ่ มีเก้าอี้นั่งสีเหลืองข้างละ4 ตัวทั้งสองฝั่งและด้านหลังของตู้ ส่วนด้านหน้าหัวรถติดกับกระจกหน้าบานใหญ่เป็นคอนโซลขนาดใหญ่มีที่นั่ง2 ที่ หน้ารถไม่มีแผงควบคุมหรือพนักงานขับรถ มีเพียงเจ้าหน้าที่ยืนกำกับอยู่คอยแก้ไขสถานการณ์หากเกิดเหตุฉุกเฉิน รถไฟสายสีเหลืองเป็นรถไฟที่ไม่มีคนขับ ควบคุมการขับเคลื่อน เปิด-ปิดประตูรถจากศูนย์ควบคุม รถไฟสายนี้เป็นรถMono Rail คือ รถเคลื่อนที่บนรางเดียว เหมือนที่เคยเห็นในสวนสนุก
ยืนมองตรงคอนโซลด้านหน้ารถจะเห็นรางรถไฟเป็นรางปูนกว้างราวๆ1ฟุต 2 รางขนานกันไประยะห่างพอควรเพื่อรถวิ่งสวนกันคนละราง
ขบวนรถแล่นไปตามรางปูนลอยฟ้า ความเร็วซึ่งผมประมาณเองว่าราวๆ50-60กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะแล่นไม่ราบเรียบนัก มีความสั่นสะเทือนขึ้นลง พอควร ราวๆกับนั่งรถที่โชคอัพแข็งๆบนผิวจราจรที่พื้นผิวขรุขระ ต่างจากรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟสายอื่นๆที่ไม่มีการสั่นสะเทือนแบบนี้ ไม่ทราบว่าสาเหตุจากราง หรือล้อยางที่แข็งเกินไป หรือจากระบบของตัวรถเอง แต่รถสายสีเหลืองมีเสียงดังเบากว่านิดหน่อยและไม่มีเสียงล้อรถบดสีกับรางรถไฟ รถสายนี้วิ่งไปอยู่เหนือถนนลาดพร้าวจนถึงบางกะปิ แล้วเลี้ยวไปทางลำสาลี ไปทางศรีกรีฑา เรื่อยไปทางหัวหมาก ที่สถานีหัวหมากเป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟสายแอร์พอร์ตลิงก์ได้ แต่ดูแล้วแต่ละสถานีทั้งสองอยู่สูงและมีระยะทางห่างจากจุดตัดของเส้นทางทั้ง2สาย ราว100 เมตรไม่มีSkywalkเชื่อม ไม่แน่ใจว่าพื้นล่างมีทางเชื่อมโดยเฉพาะหรือไม่ หากไม่มีถ้าลากกระเป๋าใบใหญ่ไปมาระหว่าง2 สถานีนี้คงทุลักทุเลน่าดูคงได้เปลี่ยนล้อกระเป๋าหรือไม่ก็เปลี่ยนคนลากกระเป๋าเป็นแน่
 |
สถานีแอร์พอร์ตลิงค์หัวหมาก |
จากสถานีหัวหมากรถไฟจะมุ่งหน้าไปทางศรีนครินทร์ ผ่านซีคอนแสควร์ ที่สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีอยู่ห่างจากสวนหลวงพอควร กลางวันแดดร้อนหากไปคงต้องนั่งมอไซด์ ส่วนผมแวะลงสถานีสวนหลวง ร.9 (ใช้เวลาจากลาดพร้าวถึงสถานีนี้ 40 นาที)
แล้วไปทานก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดสดในห้างพาราไดซ์ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง ช่วงนี้มีพ่อค้าพนักงานมากกว่าลูกค้า
จากนั้นเดินกลับมาที่สถานีสวนหลวงร. 9 ซื้อตั๋วใหม่ เพื่อนั่งต่อไปยังปลายทางที่สถานีสำโรง
ช่วงก่อนเที่ยงผู้โดยสารก็ยังเบาบางเช่นเดิม รถไฟแล่นผ่านไปยังสถานีศรีอุดม ผ่านสถานีศรีเอี่ยมที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติดหนักบริเวณนี้ แล้วค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปยังสถานีศรีลาซาลซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่สูงที่สุดในประเทศไทยซึ่งสูง 24.4 เมตร ที่ยกระดับข้ามแยกศรีลาซาลที่มีถนนยกระดับข้ามแยก จากนั้นลดระดับสู่ระดับปกติไปยังสถานีศรีอีก3 ศรี คือ ศรีแบริ่ง ศรีด่าน ศรีเทพา แล้วถึงสถานีทิพวัล ไปสิ้นสุดที่สถานีสำโรง รถไฟสายสีเหลืองมีสถานีที่ขึ้นด้วยศรี รวม 9 สถานีจากทั้งหมด 23 สถานี
ระยะเวลาเดินทาง หากรวมระยะเวลาจากสถานีต้นทางที่ลาดพร้าวจนถึงสถานีสำโรง จะใช้เวลาประมาณ1ชั่วโมง5 นาที รถแล่นไม่เร็วนักเฉลี่ยแล้วสถานีละ3 นาที 23 สถานีก็เกินชั่วโมงแล้วครับ ไม่นับรวมบางสถานีที่ต้องหยุดนานหน่อยเพื่อบริการผู้ใช้รถเข็นที่พนักงานต้องนำแผ่นเหล็กมาพาดเชื่อมรถกับชานชาลา แล้วเข็นรถเข้าหรือออกเรียบร้อยแล้ว จึงวิทยุแจ้งให้สถานีควบคุมปิดประตูรถ จาก การสังเกตุรถไฟสายสีเหลืองในช่วงกลางวันผู้โดยสารยังเบาบางครับแต่ละสถานีมีคนขึ้นลงสิบกว่าคน ส่วนเช้า-เย็น คงมีผู้โดยสารใช้เยอะกว่านี้ครับ
สถานีสำโรง เป็นสถานีที่บรรจบกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว มีสกายวอล์กเชื่อมต่อกันระยะทางราว50 เมตรสามารถต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสำโรง ไปทางสมุทรปราการหรือเข้าเมืองไปทางอโศก สยาม อนุสาวรีย์ ต่อไปจนถึง สะพานใหม่ คูคตได้ครับ
ผมนั่งรถไฟสายสีเขียวจากสถานีสำโรง เข้าเมืองไปลงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิใช้เวลาเพียง30 นาทีก็ถึง ช่วงเที่ยงกว่าๆผู้โดยสารเต็มทุกตู้ครับผู้มาใช้บริการเยอะทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้โดยสารชาวไทย รถแล่นเร็วและราบเรียบ และมีเสียงล้อรถบดรางดังเอี๊ยดๆได้บรรยากาศรถไฟฟ้าบีทีเอส อนึ่ง บีทีเอสไม่ลดค่าโดยสารให้ผู้สูงอายุนะครับ จำหน่ายตั๋วเต็มราคา ราคาสูงพอควรครับ จากสำโรงถึงอนุสาวรีย์ 63 บาท ส่วนสายสีเหลืองนั่งข้ามฟากฝั่งของกทม.จากต้นทางถึงปลายทางค่าโดยสาร45 บาท ผู้สูงวัยลดเหลือ 23 บาท
โดยรวมแล้วรถไฟสายสีเหลืองน่าใช้บริการครับ รถสะอาด กว้างขวาง แอร์เย็นสบาย เสียงไม่ดัง ถึงแม้ว่าจะนั่งไม่สบาย โยกเยกบ้าง สั่นบ้าง แต่ก็ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางได้มากในแต่ละช่วงสถานีที่รถแล่นผ่านช่วงสั้นๆ และช่วยได้มากทีเดียวหากต้องนั่งรถผ่านย่านที่มีรถติด จากคนละฟากของกรุงเทพจากลาดพร้าวสู่สำโรงคงใช้เวลากว่า3ชั่วโมง ซึ่งถ้าขับรถผ่านแยกลำสาลี หรือย่านวัดศรีเอี่ยม จุดละเกือบชั่วโมงแล้วครับ นอกจากนี้หากมีเวลาท่านอาจแวะเที่ยวแวะช้อปปิ้ง ตามบริเวณใกล้เคียงสถานีต่างๆ อาทิ สวนหลวงร.9 ซีคอนแสควร์ หรือชมทิวทัศน์ของกรุงเทพ2ข้างทางที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่านก็สวยงามน่าดูชมครับ
เชิญมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองครับ อีกไม่นานรถไฟฟ้าMonorail สายสีชมพูจะเปิดทดลองให้บริการ ผมจะไปทดลองใช้บริการแล้วนำมาบอกเล่าต่อนะครับ สวัสดีครับ